ทำความรู้จักกับ "โรคลัมปี สกิน (lumpy skin)" โรคอุบัติใหม่ ที่กำลังระบาดในวัวควายตอนนี้
มีเกษตรกรในกลุ่มผู้เลี้ยงโค ส่งข้อมูลมาเรื่องเกี่ยวกับที่ตอนนี้มีโรคไวรัสในโค ชื่อ "ลัมปี้ สกิน" ระบาดหนักมาก เเต่ไม่มีออกข่าว เลยอยากให้ช่วยโพสต์ให้ความรู้หน่อย
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงนะครับ แต่ไม่ต้องตกใจมากนะครับ โรคนี้เป็นโรคเฉพาะในโคกระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางกรมปศุสัตว์ได้รับรายงาน พบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกิน ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกินจริง และนับเป็นการพบโรคนี้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยคาดว่าสาเหตุการเกิดโรค อาจเกิดจากการนำเข้าโคเนื้อที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเชื้อโรคมาด้วย
โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชียตั้งแต่ปี 2562 ในจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศ และอินเดีย หลังจากนั้น ในปี 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนามและพม่า ประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศและเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศพม่า
ในปัจจุบัน พบการระบาดของโรคใน 18 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น มุกดาหาร บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และเชียงราย ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้โรคแพร่ระบาดไป ส่วนใหญ่มาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ และมีแมลงดูดเลือด ได้แก่ ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ ที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ
กรมปศุสัตว์ได้รายงานการเกิดโรค ไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) แล้วตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 และมีมาตรการเชิงรุกในการควบคุมป้องกันในพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดแล้ว ลดความสูญเสียให้กับเกษตรกร และเฝ้าระวังโรคในจังหวัดข้างเคียง
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโคกระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัส 𝘓𝘶𝘮𝘱𝘺 𝘴𝘬𝘪𝘯 𝘥𝘪𝘴𝘦𝘢𝘴𝘦 𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 ในสกุล 𝘊𝘢𝘱𝘳𝘪𝘱𝘰𝘹𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา
นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง
การติดต่อของโรคนี้ ติดจากแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน และอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ ติดจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
วิธีการป้องกันโรค คือ การกำจัดและป้องกันแมลงในพื้นที่ ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ในการเลี้ยง และกักสัตว์ใหม่ก่อนนำเข้าพื้นที่ โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ส่วนวัคซีนป้องกันโรค จะมีการนำเข้ามาในประเทศที่มีการระบาดของโรคแล้ว
โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หากพบสัตว์มีอาการต้องสงสัย ต้องเเจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป “รู้เร็ว สงบโรคเร็ว”
นอกจากนี้ รายการ ชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทย ได้ทำการตรวจสอบเรื่องโรคลัมปี้ สกิน กับ รศ. น.สพ. ดร. กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (https://www.facebook.com/watch/?v=331976061828387) ได้คำแนะนำว่า
Q : โรคนี้สามารถติดต่อสู่คนได้ไหม ?
A : มีรายงานในประเทศอียิปต์ที่มีการเกิดโรคในคน แล้วเขาสามารถแยกเชื้อไวรัสตัวนี้ได้จากคนที่ป่วย แต่การป่วยนั้นผู้ป่วยนั้นก็มีสภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็มีการติดเชื้อไวรัสอื่นร่วมด้วยเช่น งูสวัด มันก็เป็นกรณีพิเศษ ก็จะมีแค่หลักฐานเดียวที่เราสามารถหาได้
.
Q : เขาแชร์กันว่าเมื่อมีโรคลัมปี สกิน ระบาด ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการรับประทานเนื้อวัวมากขึ้น จริงไหม ?
A : ในกระบวนการโรงฆ่าสัตว์ที่มาตรฐาน สัตว์ที่เป็นโรคมันจะไม่เข้ากระบวนการฆ่า หรือถ้ามันหลุดรอดเข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจซาก ตรวจคุณภาพเนื้อ ก็จะโดนทำลายทิ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงมาตรฐานเนื้อสัตว์ที่เอามาบริโภคในบ้านเรา ถ้าผ่านโรงฆ่าที่ได้รับมาตรฐาน ผมก็เชื่อว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเวลานำเนื้อสัตว์ต่าง ๆ มาบริโภค การรักษาความสะอาดระหว่างปรุงอาหาร และที่สำคัญที่สุดคือการปรุงเนื้อสัตว์ให้สุก
.
Q : มีวิธีการรักษาโรคลัมปี สกิน ไหม ?
A : การรักษามันไม่มีวิธีจำเพาะ ส่วนใหญ่ที่เรารักษาการติดเชื้อไวรัสเรารักษาตามอาการ อย่างเช่นโรคนี้อาการอยู่ที่ผิวหนัง ในสัตว์ทั่ว ๆ ไป ก็คือการทำแผล ระงับการเจ็บปวด ให้เขาสามารถกินอาหารได้ ให้วิตามิน แร่ธาตุเสริมให้เขาสามารถลุกขึ้นมากินอาหารปกติได้
.
ส่วนแผลก็ค่อย ๆ ทุเลาหายไปในประมาณ 4-5 สัปดาห์ ก็จะหาย ส่วนการรักษาทางยาปฏิชีวนะ ถ้าจำเป็นกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น แผลเป็นการติดเชื้อ เขาก็รักษาให้ยาปฏิชีวนะ
.
Q : เราจะสามารถป้องกันโรคลัมปี สกิน ได้ยังไง ?
A : สิ่งที่เราต้องทำแรก ๆ ก็คือว่าการควบคุมการเคลื่อนย้าย สิ่งที่เปราะบางที่สุดคือการควบคุมการเคลื่อนย้ายผ่านช่องทางชายแดน
.
อันที่ 2 การควบคุมการเคลื่อนย้ายไปสู่ตลาดนัดโค-กระบือ ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ก็ได้มีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น
.
ส่วนอันที่ 3 ที่เกษตรกรหรือว่าเจ้าหน้าที่สามารถช่วยได้คือ การเข้าไปกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ยุง แหล่งน้ำ กองมูลสัตว์ แหล่งอับชื้นในคอก ที่สามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อของไวรัสตัวนี้ในสิ่งแวดล้อมได้
.
แล้วสุดท้ายก็คือการดูแลสัตว์ป่วยหรือต้องจำเป็นต้องทำลาย ก็ต้องทำลายสัตว์ป่วยให้ถูกวิธี ถ้าจำเป็นแล้วมีการระบาดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มาตรการการใช้วัคซีนก็อาจจะต้องเข้ามา ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของกรมปศุสัตว์ คาดว่าอาจจะจำเป็นต้องใช้วัคซีน ในส่วนที่มีการระบาดรุนแรงหรือเป็นวงกว้าง
ข้อมูลและรูป จาก https://www.prachachat.net/economy/news-664723 และ https://pasusart.com/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B5-%E0%B8%AA/
Search
ไป ฮ่องกง 2564 在 HONG KONG MOB กลุ่มคนชอบเที่ยวฮ่องกง - Facebook 的必吃
- ไปถึงฮ่องกง 17.30 น. - ซื้อบัตร Octopus กดที่ตู้ในสนามบินได้เลย ราคา ซื้อ150 HKD แต่ใช้ได้ 111 HKD โดนค่าบัตร 39 ... ... <看更多>
相關內容