ภาพสะท้อนฟุกุชิมะจากทัศนคติของคนญี่ปุ่น(1) : Shin Godzilla
ถ้าพูดถึงวิกฤตนิวเคลียร์ระดับ 7 ที่ถือเป็นระดับสูงสุดของภัยนิวเคลียร์มีการรั่วไหลส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นอกจากสิ่งที่เกิดกับเชอร์โนบิลที่พึ่งครบรอบ อีกหนึ่งแห่งที่ต้องพูดถึงคือโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะหมายเลขหนึ่ง เกิดการรั่วไหลร้ายแรงจนทำให้เกิดความระส่ำระส่ายทั่วญี่ปุ่นไปจนทั่วโลก จากภาพจำที่เกิดของเชอร์โนบิลที่ทำให้ทั้งโลกต่างหวาดกลัวเหตุการณ์ว่าจะซ้ำรอย
และสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ภาพลักษณ์ของนิวเคลียร์ค่อนข้างสลับซับซ้อน ทั้งจากการใช้พลังงานหล่อเลี้ยงในการพัฒนาประเทศ ไปจนเป็นชาติเดียวในโลกที่ถูกระเบิดนิวเคลียร์ถล่มใส่ นั่นทำให้มุมมองที่พวกเขามีต่อพลังงานชนิดนี้ไม่เหมือนใคร นำไปสู่การถ่ายทอดทั้งในเชิงบอกเล่า วิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี และคาดหวังไปพร้อมกัน
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มหันตภัยครั้งใหม่จากการทำลายล้างของธรรมชาติ
ย้อนความกันสักนิดกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทุกอย่างเริ่มจากแผ่นดินไหวในวันที่ 11 มีนาคม 2011 กับแรงสั่นสะเทือนขนาด 9 ริกเตอร์ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดในญี่ปุ่น สร้างคลื่นสึนามิลูกมหึมาที่มีขนาด 14 เมตรถล่มใส่ ในขณะที่โรงไฟฟ้ามีกำแพงกั้นคลื่นไว้รองรับหรือป้องกันได้เพียง 5 เมตร มวลน้ำมหาศาลพัดเข้ามาสร้างความเสียหายให้โรงไฟฟ้า แม้ระบบเซฟตี้จะหยุดการทำงานของเตาปฏิกรณ์ได้สำเร็จ แต่น้ำท่วมทำระบบหล่อเย็นเกิดการขัดข้องจนไม่สามารถระบายความร้อนได้ สุดท้ายจึงเกิดการระเบิดและรั่วไหลออกไปสู่ภายนอกในที่สุด
ภาพสะท้อนภายใน Shin Godzilla กับความจริงที่เกิดขึ้น
ในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายผู้คนต่างคาดหวังการกลับมาของราชันสัตว์ประหลาดตัวนี้ หลังห่างหายจากมือญี่ปุ่นไปนับทศวรรษจนความโด่งดังของ Godzilla (2014) เกิดเป็นโปรเจค Shin Godzilla (2016) กลับทำให้หลายคนที่เข้าไปรับชมต้องผิดหวัง เมื่อสิ่งที่พวกเขาได้พบไม่ใช่หนังแอคชั่นสัตว์ประหลาดสุดมันส์ แต่เป็นหนังการเมืองเข้มข้นของการหามาตรการรับมือก็อตซิล่า สัตว์ประหลาดลึกลับที่โผล่ขึ้นมาจากฝั่งจนผู้ชมบางส่วนไม่ค่อยชอบนัก
แต่อย่างหนึ่งที่หลายคนไม่รู้คือนี่แหละรากเหง้าของก็อตซิล่า เดิมทีมันเป็นภาพยนตร์การเมืองวิพากษ์การมีอยู่ของนิวเคลียร์ต่างหาก เพราะตัวตนของก็อตซิลล่าตั้งแต่อดีตมาจนถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างบอกไว้ชัดเจน มันคือกัมมันตรังสีที่มีตัวตน แต่จะเป็นประโยชน์หรือโทษขึ้นกับผู้ใช้งานอย่างคนเรานี่เองว่าจะนำพามันไปแบบใด
มหันตภัยทวีความร้ายแรงจากน้ำมือรัฐบาล
ภาพแทนของเหตุการณ์ก็อตซิล่าบุกในเรื่องแท้จริงคือสิ่งที่เกิดกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ตั้งแต่เกิดเหตุรัฐบาลประเมินสึนามิที่จะเกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวไว้น้อยเกิน ด้วยเข้าใจว่าระบบป้องกันที่มีอยู่ดีพอป้องกันรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่เข้าใจคือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 9.0 ริกเตอร์ เกินกว่าที่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เหมือนภัยก็อตซิล่าที่ไม่เคยพบที่ไหนบนโลก ก่อนเริ่มแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องและช่องโหว่ในการรับมือภัยพิบัติกับระบบราชการของญี่ปุ่นไป
ในเหตุการณ์จริงการตัดสินใจรับมือปัญหาของรัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างเชื่องช้าและเชื่อมั่นในรูปแบบเดิมๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทำให้กระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้ทั่วเมืองและโรงไฟฟ้าดับ ลามไปถึงระบบหล่อเย็นที่ยุติการทำงาน ก่อนซ้ำเติมด้วยสึนามิที่ซัดทำลายกำแพงและเมืองอย่างราบคาบ ทำให้น้ำท่วมเตาปฏิกรณ์ส่งผลให้เกิดความขัดข้อง แต่ด้วยข้อมูลของบริษัทTEPCOที่ว่าการรั่วไหลจะไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ยืนยันและแน่ใจในระบบความปลอดภัยที่วางไว้โดยไม่รู้ว่ามันล่มสลายไปแล้ว ต้องให้มีการพบศพจนเกิดการระเบิดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคมก่อนจึงเริ่มรู้สึกตัว
วันถัดมาปัญหาเริ่มลุกลามไปถึงเตาปฏิกรณ์ที่ 3 และ 4 การระเบิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมหมายถึงการรั่วไหลเป็นวงกว้าง แต่ในช่วงแรกคำสั่งจากรัฐบาลกลับมีแค่ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านและระวังตัว ปิดประตูหน้าต่างให้สนิทและอย่าใช้น้ำจากก๊อกหรือแหล่งบาดาลเท่านั้น ด้วยความลังเลที่จะต้องอพยพคนเป็นจำนวนมหาศาลด้วยประชาชนในฟุกุชิมะก่อนเกิดเหตุมีคนอยู่นับล้าน ด้วยการกลัวว่าประชาชนในพื้นที่จะเกิดการแตกตื่นจึงเลือกปกปิดข้อมูลบางส่วนไว้ไม่ยอมแถลงออกไปทั้งหมด การกระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกลายเป็นปัญหาและเพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชนอย่างไม่จำเป็น
ประกอบกับการนำเข้าชุดข้อมูลและระบบราชการญี่ปุ่น ที่ต้องรักษาหน้าและภาพลักษณ์ทั้งฟากรัฐบาลและบริษัทTEPCOที่รับผิดชอบดูแลโรงไฟฟ้าเองจ่ายข้อมูลไม่ตรงความเป็นจริง เข้าใจไปเองว่าสามารถจัดการและรับมือภัยพิบัติครั้งนี้ด้วยระบบที่มีอยู่ จนคาดการณ์รับมือหรือแก้ไขปัญหาเกิดความผิดพลาดไปหลายครั้ง อีกทั้งความพยายามในการรักษาหน้าไม่ยอมรับข้อมูลหรือคำเตือนจากแหล่งอื่นจนเกิดการอพยพล่าช้า การประสานข้อมูลที่จัดอยู่ในขั้นเลวร้ายทำให้หลายครั้งข้อมูลหลายส่วนไม่เชื่อมโยง รวมกับความใหญ่โตเป็นระบบที่มากเกิน สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาที่มีกลายเป็นวิกฤตร้ายแรง ประกอบกับการจัดการปัญหาที่ขาดความโปร่งใส กลายเป็นข้อบกพร่องแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่ไม่สามารถจัดการบริหารใต้ภาวะวิกฤตได้
และสิ่งนี้เองก็เกิดขึ้นภายในภาพยนตร์ชนิดเทียบเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์ ตั้งแต่ที่ก็อตซิลล่าภาคนี้มีสี่ร่าง แทบจะตรงตัวกับเตาทั้งสี่ที่เกิดการระเบิดในโรงไฟฟ้า และหายนะแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นคือการไล่ระดับความร้ายแรงและการรั่วไหลที่เพิ่มปริมาณขึ้นทุกขณะภายในโรงไฟฟ้า ตั้งแต่แรกสุดที่มีแค่ไอน้ำโผล่ขึ้นมาในอ่าวไปจนตอนที่มันขึ้นมาอาละวาด รวมถึงสาเหตุการเกิดขึ้นของก็อตซิลล่าตัวนี้ที่เกิดจากขยะกัมมันตรังสี ว่าไปก็มีส่วนละม้ายคล้ายกับการละเลยคำเตือนที่ทางบริษัทได้รับเกี่ยวกับข้อบกพร่องของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ปรับปรุงตั้งแต่ปี 2006 ด้วย สร้างความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้างในภายหลัง
ช่วงต้นเรื่องที่ตัวเอกพยายามนำข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดมาบอกกล่าว แต่ไม่ได้รับความสนใจและมองข้ามด้วยคิดว่านั่นคือเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ ไม่ต่างอะไรกับการขาดความเอาใจใส่ในข้อมูลที่ได้รับมา จากเหตุการณ์ที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นไม่สนใจข้อมูลสำหรับการแจ้งเตือนและอพยพ ถึงขนาดลบทิ้งโดยไม่ได้เปิดอ่านด้วยความเห็นปริมาณรังสีที่ปล่อยมาไม่ตรงกับค่าจริงที่เกิดขึ้น เป็นมุมมองคับแคบ ขาดทั้งวิจารณญาณและความรู้ไม่ประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน
หลังจากที่ก็อตซิลล่าโผล่มา รัฐบาลกลับปรึกษานักวิชาการที่ไร้ความสามารถและตัดสินอะไรแต่ในตำรา ไม่คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดีแต่ตอบตามหลักการ กลัวเสียชื่อเสียงและเครดิตที่ผ่านมาโดยไม่คิดมองสิ่งที่เกิดขึ้น ตรงกับเหตุตอนหลังการระเบิดในคราวแรกที่ไม่มีมาตรอะไรรองรับเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเป็นรูปธรรม ทั้งที่นี่เป็นการเกิดแผ่นดินไหวครั้งประวัติการณ์ ถูกขนานนามว่ารุนแรงที่สุดที่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นั่นทำให้แผนรับมือต้องถูกร่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขรับมือเฉพาะหน้า แต่กลับไม่มีคำแนะนำหรือหนทางแก้ไขปัญหาถูกส่งไปจากทางฝั่งบริษัทTEPCOที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เช่นเดียวกับทางรัฐบาลที่ไม่สามารถสรรหามาตรการหรือทางรับมือกับโรงไฟฟ้าอย่างเจาะจง ขาดการวางแผนรับมือหรือมาตรการรองรับทำให้เกิดการตอบสนองช้า คิดอาศัยระบบหล่อเย็นที่มีอยู่โดยไม่ประเมินว่ามันจะเสียหายจากสึนามิ ผลคือการระเบิดอีกหลายครั้งที่ตามมาของเตาปฏิกรณ์ตัวอื่นในโรงไฟฟ้า
ตามมาด้วยสายบัญชาการภายในเรื่องที่ดูซับซ้อน วุ่นวาย เป็นลำดับขั้นตอน แต่กลายเป็นความเทอะทะและไร้ค่าเมื่ออยู่ในเหตุการณ์จริงจนรับมือก็อตซิลล่าไม่ทันท่วงที ผลสุดท้ายก็ปล่อยให้ก็อตซิลล่าที่พยายามวิวัฒนาการตัวเองกลับลงทะเล รอจนมันเข้าสู่สถานะพร้อมสำหรับขึ้นบกเต็มตัวทำให้ความเสียหายยิ่งขยายเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับในความเป็นจริงที่มีการบันทึกไว้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้โดยพลัน จำเป็นต้องรอคำสั่งจากเบื้องบนทำให้จัดการและรับมือปัญหาได้ไม่ทันท่วงที ด้วยเหตุผลในด้านเบื้องบนขาดความเข้าใจหรือการประเมินสถานการณ์อย่างถูกต้อง ไปจนการสูบน้ำหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์อื่นที่กำลังสะสมความร้อนเกิดล่าช้า ด้วยตัวนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังเอง มีข้อทัดทานเรื่องการใช้น้ำทะเลแทนที่จะใช้น้ำจืดในสภาวะเร่งด่วน ผลสุดท้ายการลดความร้อนที่เกิดกับแกนเลยไม่ทันเวลานำไปสู่เหตุร้ายต่อจากนั้น
ภายในเรื่องมีฉากที่นักการทูตหญิงจากสหรัฐฯเสนอข้อมูลให้ความช่วยเหลือ แต่สิ่งที่เธอหยิบยื่นให้กลับถูกปฏิเสธไปด้วยความคิดว่าไร้สาระและไม่เป็นที่สำคัญ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเครื่องบินทหารสหรัฐฯตรวจวัดค่ารังสีและทำแผนที่แสดงรายละเอียดไป ก่อนส่งข้อมูลนี้ไปให้กระทรวงเศรษฐกิจและกระทรวงเทคโนโลยี แต่กลับไม่มีการตอบสนองหรือนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ไม่มีการส่งต่อข้อมูลไปถึงสำนักรัฐมนตรีหรือคณะทำงานเพื่อใช้ในแผนการอพยพเลย ทำให้ประชาชนต้องตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่เกิดต่อรังสีอย่างไม่จำเป็น แสดงให้เห็นถึงการไม่เชื่อมต่อข้อมูลหรือทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง เป็นการแยกความรับผิดชอบหรือจะเรียกว่าปัดสวะให้พ้นตัวก็ไม่ผิดนัก นั่นทำให้การทำงานของรัฐบาลไร้ทิศทางและไม่เป็นเอกภาพ จนสุดท้ายไม่สามารถรับมือวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น
น่าเจ็บใจคือแม้จะมีบทเรียนเกิดขึ้นกับรัฐบาลมาหลายครั้งแต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแบบที่เราก็รู้กันดี
สดุดีแด่ผู้กล้ากับฮีโร่ตัวจริงที่ปกป้องประเทศไว้
จากความพินาศที่เกิดขึ้นโอกาสในการหยุดยั้งมหันตภัยไม่ว่าจะเป็นก็อตซิลล่าหรือฟุกุชิมะล้วนเลวร้าย เมื่อผู้มีอำนาจในมือกลับไม่ยอมทำงานให้สมฐานะและเงินเดือน นั่นทำให้เรื่องเลวร้ายที่เกิดดูไม่มีทางหยุดยั้ง แต่ในช่วงเวลาวิกฤติก็ไม่ได้สิ้นความหวัง เมื่อในภาพยนตร์ทีมเฉพาะกิจของตัวเอกหลังการเสี่ยงชีวิตตรวจสอบข้อมูลของก็อตซิลล่าที่หยุดนิ่งไปเพื่อหาทางรับมือ ที่สุดก็รวบรวมข้อมูลได้มากพอดำเนินแผนกลยุทธ์ยาชิโอริ โดยอาศัยช่วงเวลาที่พลังงานก็อตซิลล่าหมดหลังอาละวาดไป ล่อให้มันใช้พลังงานหมดสิ้นแล้วโจมตีมันจนล้มลง จากนั้นจึงเข้าไปฉีดสารเยือกแข็งเพื่อทำการแช่แข็ง ยับยั้งการเคลื่อนไหวของก็อตซิลล่าไม่ให้มันอาละวาดไปกว่านี้ หลังการสละชีวิตของกองกำลังป้องกันตัวเองที่สุดมันก็ได้ผล สารแช่แข็งสามารถเยือกแข็งก็อตซิลล่าไว้กลางเมือง หยุดอสูรกายตัวนี้ไม่ให้ออกอาละวาดได้สำเร็จ
ในเรื่องจริงหลังการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ตัวที่ 4 เกิดขึ้น ท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจหรือหาทางรับมือได้จากส่วนกลาง เหล่าเจ้าหน้าที่ภายในโรงไฟฟ้ารู้ตัวว่าสิ่งที่จะเกิดคืออะไร พวกเขาไม่ยอมให้บ้านเกิดเมืองนอนตัวเองกลายเป็นเชอร์โนบิลแห่งที่ 2 ยิ่งไม่อาจปล่อยให้ครอบครัวพวกเขาเจอเรื่องแบบนั้น ประกอบกับหลายคนในนี้ต่างเป็นพนักงานของบริษัทTEPCO สิ่งที่พวกเขาแบกคือความรับผิดชอบกับสาเหตุของเรื่องในครั้งนี้และหน้าที่ต้องสะสางสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นทำให้พนักงานระดับกลางและล่างจำนวน 50 คนเลือกจะอยู่ที่โรงไฟฟ้าต่อแม้มีคำสั่งอพยพ เพื่อระบายความร้อนและทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เตาปฏิกรณ์ฟุกุชิมะเสียหายมากไปกว่านี้ นั่นคือที่มาของกลุ่มฟุกุชิมะ 50 กลุ่มคนที่ยินดีทำทุกอย่างแม้ต้องทิ้งชีวิตตัวเองนับจากนี้ เพื่อหยุดยั้งการระเบิดและรั่วไหลของกัมมันตรังสีออกไปจากโรงไฟฟ้า
ภายหลังจำนวนคนที่เข้ามาช่วยและสมทบผู้กล้าทั้ง 50 คนอีกมากมาย แต่ชื่อกลุ่มที่สื่อเรียกขานหรือนามที่ใช้สดุดีความกล้าของพวกเขาก็ไม่เคยเปลี่ยนไป(จนชื่อนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2020 ที่ผ่านมานี่เอง) ในแต่ละวันสิ่งที่พวกเขาทำมีตั้งแต่การลดไอน้ำสะสมภายในเตาปฏิกรณ์ หาทางยุติและป้องกันการระเบิดที่อาจทำให้เตาเสียหายไปกว่านี้ รวมถึงการลดอุณหภูมิของแกนปฏิกรณ์ที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับภารกิจในครั้งนี้ พวกเขานำน้ำทะเลเข้ามาใช้งานเพื่อหล่อเย็น จุดนี้ตรงกับสิ่งที่เกิดในภาพยนตร์ด้วยการใช้รถปั๊มคอนกรีตจำนวนมากมาฉีดน้ำทะเลใส่ตัวเตาเพื่อลดความร้อน การสวมชุดป้องกันเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เองก็ตรงกับสิ่งที่เกิดในความเป็นจริง หรือกระทั่งการมีคนที่ต้องเสียสละชีวิตไปจากการทำหน้าที่(มีข่าวลือว่าคนตาย 5 และบาดเจ็บอีก15ถูกส่งตัวออกมาในวันที่ 23 มีนาคม 2011)
แม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากกัมมันตรังสีทันทีอย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนต่างรู้ว่าคนที่เข้าไปด้านในล้วนถูกบั่นทอนชีวิต และพึ่งมีการยอมรับจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่ามีการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดของพนักงานคนแรกในกลุ่มนี้เมื่อปี 2016 และจะมีแต่เพิ่มมากขึ้นนับจากนี้เพราะนั่นคือราคาที่พวกเขาต้องจ่ายในการหยุดยั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้น หลังจากเสียสละกันไปมากมาย ที่สุดเตาปฏิกรณ์ก็เริ่มเย็นตัวยับยั้งการระเบิดและหลอมละลายที่เกิดขึ้นลงได้ สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่ปาฏิหาริย์จากพระเจ้าที่ไหนบันดาลมา แต่เป็นพลังและความกล้าของทุกคนที่ร่วมฟันฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ไปถึงทางออกได้สำเร็จ
แน่นอนจะเป็นในภาพยนตร์หรือความจริงเราต่างทราบดีว่า การหยุดยั้งการหลอมละลายของแกนพลังงานไม่ได้ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นหมดไป กลับเป็นแค่จุดเริ่มที่ทำให้ญี่ปุ่นรอดพ้นจากมหันตภัยลงได้ชั่วคราวและอาจกลับมาปะทุได้สักวัน ดังก็อตซิลล่าที่ยืนตระหง่านใจกลางโตเกียว ถูกแช่แข็งไว้ด้วยสารหล่อเย็นปริมาณมหาศาลแต่ไม่ได้หมายความว่ากำลังของมันจะหมดลง แต่ต่อจากนี้ไปพวกเขารวมถึงเราต้องอยู่ร่วมกับกัมมันตรังสีและโรงไฟฟ้าแห่งนี้ให้ได้ หาทางรับมือ ป้องกัน และแก้ไขมันไม่ให้ก็อตซิลล่ากลับมาอาละวาด ไม่ปล่อยให้เรื่องเดิมเกิดขึ้นซ้ำรอยจนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้อีก
เพราะนั่นก็น่าจะเป็นคำตอบแบบเดียวกับที่ฮีโร่ทั้งหลายคิด คงไม่ต้องมีฮีโร่เกิดขึ้นและเชื่อว่าไม่มีทางที่พวกเขาอยากลุกขึ้นมาต่อสู้และเสียสละอย่างกล้าหาญ มันไม่น่ามีความจำเป็นต้องทำแบบนี้เลย หากเราสามารถป้องกันไม่ให้ภัยร้ายที่เกิดขึ้นบนโลกแต่แรก
#peoplepersona
#เขย่งก้าวกระโดด
ที่มา
https://www.bbc.com/news/world-asia-45423575
https://www.bbc.com/news/world-asia-38843691
https://www.posttoday.com/world/79548
https://mgronline.com/science/detail/9540000037689
https://www.nesdc.go.th/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?nid=2650
http://km-ir.arts.tu.ac.th/files/original/d88ffa9366fb4e52eb48f54f07c3943bc575b2f0.pdf
https://www.ryt9.com/s/iq02/1143681
「โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ」的推薦目錄:
- 關於โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 People Persona Facebook 的精選貼文
- 關於โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 10 ปี ภัยพิบัติฟุกุชิมะ มหันตภัยนิวเคลียร์สะเทือนโลก - BBC News ไทย 的評價
- 關於โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 ลุงชาวญี่ปุ่นช่วยแมวถูกทิ้งแถวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ - Facebook 的評價
- 關於โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 Learn, Share & Fun | ฟุกุชิมะ - Pinterest 的評價
- 關於โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 พลังงานนิวเคลียร์ เปรียบเทียบข้อดี VS ข้อเสีย ที่ส่งผลต่อโลก 的評價
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 ลุงชาวญี่ปุ่นช่วยแมวถูกทิ้งแถวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ - Facebook 的必吃
ลุงชาวญี่ปุ่นอยู่ดูแลแมวซึ่งถูกทิ้งบริเวณเขต โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ หลังเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อ 11 มี.ค. 54 ยืนยันจะดูแลพวกมันจนเหลือตัวสุดท้าย... ... <看更多>
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 Learn, Share & Fun | ฟุกุชิมะ - Pinterest 的必吃
13 ก.ค. 2016 - Nuclear Exclusion Zone ( 20 km รอบโรงไฟฟ้า ) วันที่ 12 มีนาคม 2011 รัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่ง อพยพ ประชากรกว่า 78000 ครัวเรือน รัศมี 20 กิโลเมตร ... ... <看更多>
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 在 10 ปี ภัยพิบัติฟุกุชิมะ มหันตภัยนิวเคลียร์สะเทือนโลก - BBC News ไทย 的必吃
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 9 ที่ ฟุกุชิมะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ... ... <看更多>