Repost ได้วนกลับมาแชร์เสมอเวลามีคนพูดถึงการสนับสนุนหนังไทย เพราะเวลาบอกว่ารัฐบาลสนับสนุนหนังไทย มันไม่ใช่แค่ให้ทุน 5 แสนบาทหรือ 1 ล้านบาท แล้วจะมาเคลมว่าสนับสนุนหนังไทยนะ
มันต้องทำเป็นระบบที่มีแผนงาน ทำจริงจัง เหมือนที่เกาหลีใต้เขาทำ แบบนั้นจะเคลมว่ารัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังก็เอาไปเลย
หลายคนอาจจะเห็นกระแสการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีมากมายตลอดกว่าหนึ่งทศวรรษผ่านความสำเร็จของทั้งเพลงและซีรีส์ที่โด่งดังไปทั่วทั้งเอเชีย จนเดี๋ยวนี้การไปเที่ยวเกาหลีกลายเป็นหนึ่งในความฝันของใครหลาย ๆ คน อย่างไรก็ตามเมื่อก่อนเราก็จะพูดถึงแค่เพลงและซีรีส์ แต่เดี๋ยวนี้หนังเกาหลีเริ่มประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ในระดับเอเชียแต่เป็นระดับโลก ดังจะเห็นได้จากนักแสดง, ผู้กำกับ, ตากล้อง จำนวนไม่น้อยที่ได้ไปร่วมงานกับสตูดิโอใหญ่ในฮอลลีวูด รวมถึงการส่งออกหนังเกาหลีไปเวทีประกวดทั่วโลกจนหลาย ๆ เรื่องได้รับการยกย่องอย่างมากทีเดียว ซึ่งทำให้หนังเกาหลีถูกจับตามองมากขึ้น ทั้งสายบล็อกบัสเตอร์และสายล่ารางวัล แต่กว่าอุตสาหกรรมหนังเกาหลีจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องบอกว่าพวกเขาเคยผ่านจุดต่ำสุดมาก่อน จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้ด้วยนโยบายที่มีคุณภาพ ซึ่งจากต่ำสุดมาสูงสุดของวงการหนังเกาหลีจะเป็นเช่นไร ติดตามได้ในโพสต์นี้เลยครับ
.
1 | เรียนรู้จากประวัติศาสตร์วงการหนังเกาหลี
หนังเกาหลีเรื่องแรกเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1919 คือเรื่อง The Righteous Revenge แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ต้องบอกว่าคือช่วงปีค.ศ. 1926 - 1932 ช่วงเวลานั้นเกาหลียังไม่แบ่งเหนือใต้และยังอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้การสร้างหนังต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะปกครองชาวญี่ปุ่น ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงทำให้วงการหนังเกาหลีตลอด 11 ปี (ปี 1934 - 1945) มีหนังเพียง 157 เรื่องเท่านั้น แถมเกือบทั้งหมดยังเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสนับสนุนจักรวรรดิญี่ปุ่น
.
ยุคต่อมาคือหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลีปีค.ศ. 1953 เป็นช่วงเวลาที่คนทำหนังได้อิสระในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์เพราะไม่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น โดยในปี 1955 หนังเรื่อง Chunhyang-jon ถูกพิจารณาว่าเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์เรื่องแรกของเกาหลี โดยมีคนดูถึง 200,000 คน คิดเป็น 10% ของชาวเมืองโซลเลยทีเดียว และในยุคนั้นยังมีหนังเรื่อง The Housemaid เมื่อปี 1960 ที่ถูกยกย่องว่าเป็นหนังดีที่สุดของเกาหลีใต้อีกด้วย (หนังเล่าเรื่องของแม่บ้านสาวพยายามยั่วยวนทำลายครอบครัวของเจ้านายที่มีภรรยาอยู่แล้ว)
.
อย่างไรก็ตามยุครุ่งเรืองของหนังเกาหลีต้องสิ้นสุดลงเมื่อเกิดการยึดอำนาจโดยทหารเมื่อปีค.ศ. 1961 ซึ่งได้ออกกฎหมายควบคุมภาพยนตร์ เริ่มต้นตั้งแต่การจำกัดการนำเข้าหนังต่างประเทศและจำกัดการผลิตหนังในประเทศ มีการเซ็นเซอร์หนังอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะหนังเนื้อหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์, เนื้อหาส่อไปในทางอนาจาร รวมถึงหนังใด ๆ ก็ตามที่อาจทำลายภาพพจน์ของประเทศจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งผลจากการเซ็นเซอร์ทำให้วงการหนังเกาหลีตกต่ำลง ทั้งจากโปรดักชั่นแย่ ๆ และบทหนังที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้แทบไม่มีคนสนใจดูหนังในโรงอีกเลย
.
ผลกระทบดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมหนังเกาหลีย่ำแย่มาก ๆ รัฐบาลจึงเลือกแก้ปัญหาด้วยการจำกัดวันฉายหนังต่างประเทศให้น้อยลงไปอีกโดยหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูวงการหนังเกาหลีใต้ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งปี 1984 ได้มีการแก้ไขกฎหมายควบคุมภาพยนตร์ ทำให้ผู้สร้างหนังอิสระสามารถทำหนังได้ซึ่งถือเป็นช่วงพลิกฟื้นอุตสาหกรรมหนังเกาหลีอย่างแท้จริง แต่พวกเขายังคงต้องต่อสู้กับความนิยมหนังต่างประเทศอยู่เช่นเคย
.
2 | บังคับใช้ screen quota ให้ฉายหนังเกาหลีขั้นต่ำ 146 วันต่อปี
ผลจากการแก้ไขกฎหมายควบคุมภาพยนตร์เมื่อปี 1984 ทำให้การนำเข้าหนังต่างประเทศไม่ถูกจำกัดอีกต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อส่วนแบ่งรายได้ของหนังเกาหลีที่ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดเพราะคนนิยมหนังต่างประเทศมากกว่า ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ชัดเจนคือในปี 1985 ส่วนแบ่งหนังต่างประเทศทำรายได้ 60% หนังเกาหลีใต้ 40% แต่ 8 ปีต่อมาส่วนแบ่งดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงเป็น 84% ต่อ 16% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตกต่ำของวงการหนังเกาหลีอีกครั้ง
.
ในช่วงแรกนั้นรัฐบาลได้พยายามใช้ประโยชน์จากการเข้ามาของผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ เช่น UIP, 20th Fox, และ Warner Bros ด้วยการออกกฎว่าถ้าคุณจะนำหนังต่างประเทศเข้ามาฉายใน 1 เรื่องจะต้องสนับสนุนเงินสร้างหนังเกาหลีจำนวน 4 เรื่อง ซึ่งมันดูดีในทางทฤษฎีแต่ปรากฎว่าในทางปฏิบัติจริงนั้นพวกเขาก็เจียดเงินเล็กน้อยสร้างหนังเกาหลีห่วย ๆ ขึ้นมา 4 เรื่อง สุดท้ายคนดูก็ต้องดูหนังต่างประเทศของพวกเขาที่ดีกว่าอยู่ดี
.
ทำให้ในปีค.ศ. 1993 รัฐบาลเกาหลีจึงได้บังคับใช้ screen quota อย่างเข้มงวดเป็นครั้งแรก โดยบังคับให้โรงหนังต้องฉายหนังเกาหลีจำนวนขั้นต่ำ 146 วันต่อปี ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้รายได้หนังเกาหลีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเพราะคนก็ยังคงนิยมหนังต่างประเทศเหมือนเดิม
.
3 | การลงทุนสร้างหนังโดยกลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพล (แชโบล)
แน่นอนว่าคนสร้างหนังต้องหาแหล่งเงินทุน ในช่วงปีค.ศ. 1992 กลุ่มแชโบล (เช่นซัมซุง, แดวู, ฮุนได) ได้ให้ความสนใจลงทุนผลิตหนังและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อเกิดวิกฤติการเงินปี 1997 (ปีเดียวกับวิกฤติต้มยำกุ้งพ.ศ. 2540) จึงทำให้บริษัทกลุ่มแชโบลได้ถอนตัวจากการลงทุนสร้างหนังเพื่อไปโฟกัสธุรกิจตัวเองเพียงอย่างเดียว และนั่นทำให้กลุ่มนายทุนหน้าใหม่เข้ามาแทนที่ กลุ่มนั้นคือ CJ, Orion, และ Lotte ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของสนามอุตสาหกรรมหนังเกาหลีโดยถือครองส่วนแบ่งรวมกันถึง 80%
.
4 | รัฐบาลสนับสนุนคนทำหนังผ่านสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งเกาหลี (Korean Film Council)
จุดสำคัญที่ทำให้วงการหนังเกาหลีเติบโตอย่างก้าวกระโดดในขั้นต้นคงต้องให้เครดิตการกำเนิดสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งเกาหลี ซึ่งถึงแม้จะก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1973 แต่มันกลับไม่เคยมีบทบาทหน้าที่ใด ๆ ต่อวงการหนังเลย จนเมื่อปี 1999 พวกเขาได้ประกาศตัวว่าองค์กรได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมหนังเกาหลีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยองค์กรดังกล่าวจะมีคณะกรรมการจำนวน 9 คนที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงวัฒนธรรม, กีฬา และการท่องเที่ยว (มันคือกระทรวงเดียวนะ) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตหนัง
.
สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งเกาหลีไม่ได้เป็นเพียงแค่เสือกระดาษ แต่พวกเขาทำหน้าที่เพื่อภาพรวมของวงการหนังได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาสนับสนุนเงินทุนให้คนทำหนัง, สนับสนุนการวิจัย การศึกษา และการฝึกอบรม, พวกเขายังช่วยเหลือโรงฉายหนังนอกกระแส (art house theaters เหมือน House RCA), ช่วยเหลือด้านการตลาดแก่บริษัทหนังเกาหลีในเทศกาลหนังนานาชาติ, อีกทั้งยังเป็นสปอนเซอร์จัดเทศกาลหนัง, ตีพิมพ์นิตยสารหนังเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษ และพวกเขายังสนับสนุนไปถึงการจัดฉายหนังเกาหลีในต่างประเทศอีกด้วย เรียกว่าครบวงจรการสนับสนุนวงการอย่างเป็นระบบ
.
5 | ลอกเลียนแบบและสร้างสรรค์ผลงาน
ถ้าเป็นแวดวงเทคโนโลยีเราคงต้องยกตัวอย่างสินค้าเกาหลีและจีนหลาย ๆ อย่างว่ามีจุดเริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบสินค้าที่ประสบความสำเร็จในตลาดอยู่แล้ว แต่การลอกเลียนแบบของพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ตามเพียงอย่างเดียว พวกเขาเลียนแบบเพื่อก้าวจากศูนย์ข้ามไปที่สองหรือสามแล้วค่อยพัฒนาต่อยอดจากนั้น
.
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมหนังเกาหลีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะได้เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและมีการศึกษาเรียนรู้มากมาย แต่หนึ่งในวิธีการทำหนังของพวกเขาหลาย ๆ เรื่องรับเอาอิทธิพลจากฮอลลีวูดมาทำเป็นหนังของตัวเองมากมาย ยกตัวอย่างเช่น The Thieves ที่เรียกว่าเป็น Ocean's Eleven ของเกาหลี หรืออย่าง The Tower ก็มีความคล้ายคลึงกับบล็อกบัสเตอร์ในอดีตของฮอลลีวูดเรื่อง The Towering Inferno
.
แต่ในขณะเดียวกันหนังหลาย ๆ เรื่องของเกาหลีก็มีความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นมาก ๆ จนฮอลลีวูดยังต้องติดต่อขอซื้อไป remake ทำใหม่ เช่นความสำเร็จของ Il Mare ที่ถูกนำไปสร้างใหม่เป็น The Lake House, ความยอดเยี่ยมของ A Tale of Two Sisters ที่ถูกสร้างใหม่ในชื่อ The Uninvited, นอกจากนี้ความโด่งดังของ Oldboy และ My Sassy Girl ก็ดึงดูดให้ฮอลลีวูดซื้อสิทธิ์ไปสร้างใหม่เช่นเดียวกัน
.
อีกประการหนึ่งคือวงการหนังเกาหลีให้ความสำคัญกับงานด้านเทคนิคเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่างานกำกับภาพในหนังเกาหลียุคหลัง ๆ โดดเด่นเกินหน้าเกินตาเพราะมันมีความตั้งใจเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น The Handmaiden, The Age of Shadows หรือกระทั่ง Stoker หนังฮอลลีวูดที่กำกับโดยปาร์ค ชานวุค ก็ใช้ผู้กำกับภาพชาวเกาหลีที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม
.
และพวกเขายังฉลาดใช้สื่อภาพยนตร์ในการเผยแพร่วัฒนธรรมไปทั่วเอเชีย ซึ่งความสำเร็จที่จับต้องได้อาจจะต้องยกเครดิตให้ทางฝั่งซีรีส์เกาหลีมากกว่า แต่ที่น่าสนใจคือหนังเกาหลีหลายเรื่องถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมชาตินิยมอย่างแนบเนียน
.
6 | การทำงานร่วมกันระหว่างโรงหนังและดูออนไลน์
โดยปกติแล้วระบบการจัดจำหน่ายหนังนั้นจะมีแบบที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาช้านานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของโรงหนัง ด้วยแนวคิดที่ว่า 'ถ้าหนังออกแผ่นพร้อมฉายโรง แล้วใครจะไปดูในโรง' ซึ่งแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดระบบช่องว่างของการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ขึ้นมา (window) อธิบายได้ว่าหนังจะถูกฉายครั้งแรกที่โรงหนังต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางทำรายได้หลัก และหลังจากนั้นจะเว้นช่วงประมาณ 4 เดือนเพื่อวางจำหน่ายแผ่น dvd หรือ blu-ray รวมถึงในการซื้อหนังออนไลน์ในปัจจุบันด้วย
.
แต่ที่เกาหลีเขาไม่คิดเช่นนั้น ด้วยความที่ประเทศเกาหลีมีการเติบโตด้านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรวมถึง LTE บ้านเขาก็ใช้งานได้จริงจึงทำให้ธุรกิจออนไลน์ต่าง ๆ เติบโตตามไปด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ iptv (Internet Protocol Television) และ vod (Video on Demand) ซึ่งเป็นช่องทางหลักสำหรับการจำหน่ายหนังออนไลน์ ตามปกติแล้วพวกเขาควรจะเลือกทำตาม window การฉายปกติ แต่ที่เกาหลีเลือกจะจำหน่ายหนังออนไลน์พร้อมกับฉายโรงหรือช้ากว่าในโรงเพียง 4 ถึง 6 สัปดาห์เท่านั้น
.
มองดูเผิน ๆ เหมือนมันจะมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับเกื้อกูลกัน โดยเขายังถือว่าโรงหนังคือช่องทางจำหน่ายหนังที่แข็งแกร่งเหมือนเดิม แต่ขณะเดียวกันช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ คือโอกาสสำหรับเข้าถึงผู้คนวงกว้างที่กำลังเติบโตตามการใช้งาน iptv และ vod มากขึ้นทุกปี โดยในปี 2015 มีคนเข้าชมหนังในโรงเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% (217 ล้านครั้ง) ส่วนช่องทางดูหนังชนโรงทาง vod นั้นก็มีกำแพงเรื่องราคาขึ้นมาอยู่ที่ประมาณเรื่อง 12,000 วอน (ประมาณ 350 บาท) โดยราคาจะปรับลงเมื่อครบ 1 ปีหลังฉายโรง ซึ่งมันน่าสนใจที่ว่าอุตสาหกรรมหนังบ้านเขายังคงยึดผลประโยชน์เหมือนเดิมแต่เขากล้าลองเสี่ยงสร้าง window ใหม่ ๆ ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้สร้างหนัง
.
ตัวอย่างศึกษาคือการฉาย Snowpiercer ทาง vod ก่อนฉายโรงซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผล ทอม ควินน์ ผู้บริหารของ Radius-TWC (เป็นบริษัทลูกของ Weinstein Company ทำหน้าที่จัดจำหน่ายหนังเฉพาะกลุ่มทางออนไลน์และโรงหนัง เช่นเรื่อง Only God Forgives, It Follows) ได้พูดถึง Snowpiercer ว่าเหมาะสมกับกลยุทธ์การฉายทาง vod พร้อมโรงหนัง เขายังคาดหวังว่ามันจะไปได้ดีทั้งการฉายในโรงและ vod ซึ่งหวังว่ามันจะส่งเสริมกัน
.
โดยผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าน่าสนใจเพราะจากการฉายจำกัดโรงในสัปดาห์แรก มันค่อย ๆ มีกระแสจนเกิดการเพิ่มโรงขึ้นเป็น 356 โรงในสุดสัปดาห์ ถึงแม้จะทำเงินไปเพียง 4.5 ล้านเหรียญแต่เมื่อเทียบสัดส่วนต่อโรงก็ถือว่าน่าพอใจ ซึ่งควินน์เชื่อว่าการฉาย vod ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงหนังที่ฉายจำกัดโรง และถ้าหากหนังมันดีก็จะเกิดกระแสปากต่อปากที่ช่วยทำให้หนังที่ยังฉายอยู่ในโรงมีคนดูมากขึ้น
.
ควินน์ยังบอกอีกว่า "ผมเชื่อว่าโรงหนังและ vod สามารถอยู่ร่วมกันได้ ร้านอาหารสุดโปรดของผมเริ่มมีบริการส่งถึงบ้าน แต่ผมก็ยังคงเดินทางไปทานที่ร้านเหมือนเดิม เช่นเดียวกับแต่ละเรื่องที่ต้องวางแผนการฉายแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เพราะไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะสามารถทำแบบ Snowpiercer ได้หมด"
-------------
จากทั้งหมดนี้เราคงจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่าความสำเร็จของหนังเกาหลีในปัจจุบันต้องให้เครดิตความจริงจังของสมาพันธ์ภาพยนตร์บ้านเขาที่กำหนดนโยบายเป็น road map เป็นขั้นเป็นตอนแล้วดำเนินการกันมาตามแบบแผนที่วางไว้ มันอาจจะไม่ได้ปุบปับเห็นผล แต่เวลาก็พิสูจน์แล้วว่าการวางกลยุทธที่ดีจะช่วยให้อุตสาหกรรมหนังประสบความสำเร็จอย่างแข็งแรงได้อย่างไร ซึ่งก็หวังลึก ๆ ว่าในอนาคตเมืองไทยจะมีอะไรแบบนี้บ้าง
อ้างอิง:
1) The Unique Story of the South Korean Film Industry - http://www.inaglobal.fr/…/unique-story-south-korean-film-in…
2) THE SUCCESS OF THE SOUTH KOREAN FILM INDUSTRY: CREATING A SYNERGY BETWEEN CINEMA AND VOD - https://www.filmdoo.com/…/the-success-of-the-south-korean-…/
3) https://en.wikipedia.org/wiki/Korean_Film_Council
4) 'Snowpiercer,' VOD and the future of film distribution - http://www.latimes.com/…/la-et-mn-snowpiercer-vod-and-the-f…
#หนังโปรดของข้าพเจ้า
Search