ใครคือผู้ก่อตั้ง TSMC ผู้ผลิตชิป ให้คนครึ่งโลก /โดย ลงทุนแมน
แม้ว่าระบบปฏิบัติการ iOS ของแอปเปิลและ Android ของกูเกิล จะเรียกได้ว่าเป็นคู่ปรับตลอดกาล
แต่รู้หรือไม่ว่า ชิปเซต หรือ สมองของสมาร์ตโฟนที่อยู่บนสมาร์ตโฟน เช่น ชิป A-Series ของแอปเปิล หรือชิป Snapdragon หลายรุ่นบน Android กลับถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทเดียวกันที่ชื่อว่า Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC
ซึ่งนอกจากชิปบนสมาร์ตโฟนแล้ว TSMC ยังมีส่วนแบ่งการตลาดชิปเซตทั้งหมดบนโลกมากถึง 55.6% หรือเรียกได้ว่าชิปเกินกว่าครึ่งโลก ถูกผลิตขึ้นจากบริษัทแห่งนี้
ปัจจุบัน TSMC มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านล้านบาท เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับที่ 9 ของโลกและมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย เป็นรองเพียง Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย
แล้ว TSMC มีที่มาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
สำหรับผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC ก็คือ “Morris Chang”
Morris Chang หรือ มอร์ริส จาง เกิดที่เมือง Ningbo
ซึ่งเป็นเมืองทางตะวันออกของประเทศจีน ในปี ค.ศ. 1931
แม้จางจะเรียกได้ว่าเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง แต่ชีวิตในวัยเด็กของเขากลับไม่ได้สุขสบายมากนัก นั่นก็เพราะว่าเขาต้องเจอกับสงครามถึง 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
- สงครามกลางเมืองในจีน ช่วงปี ค.ศ. 1927 ถึง 1949
- สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นครั้งที่สอง ช่วงปี ค.ศ. 1937 ถึง 1945
- สงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี ค.ศ. 1939 ถึง 1945
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ครอบครัวของเขาต้องทำการย้ายไปมาอยู่บ่อยครั้ง
จนในปี ค.ศ. 1948 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามกลางเมืองในจีน กำลังร้อนระอุ
จางในวัย 17 ปี พร้อมกับครอบครัว จึงได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ ฮ่องกง
แม้ในช่วง 17 ปีแรกของชีวิต จางจะได้รับผลกระทบจากสงครามเป็นอย่างมาก
แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากสงคราม ก็คือ เขาต้องขยันและทำงานหนัก โดยสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อของเขาคอยสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ ก็คือ “เรื่องการเรียน” ด้วยเหตุนี้ จางจึงสามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard ได้สำเร็จ
หลังจากเข้าเรียนได้เพียง 1 ปี เขาก็ได้ย้ายไปเรียนที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT และเขาก็ได้จบการศึกษาในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
งานแรกของ มอร์ริส จาง เริ่มต้นขึ้นที่ Sylvania Semiconductor เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัทแม่ Sylvania Electric Products อีกทีหนึ่ง
แต่หลังจากทำงานได้ 3 ปี เขารู้สึกว่าแนวทางของบริษัทในอนาคต ไม่ได้เป็นแบบที่เขาคิด
แนวทางของบริษัทคือ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าหลาย ๆ ชนิด
ซึ่งต่างจากเป้าหมายของจางที่ต้องการโฟกัสไปที่ การพัฒนาตัวเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก
เรื่องดังกล่าว จึงทำให้จางตัดสินใจออกจากบริษัท Sylvania Semiconductor เพื่อมาเริ่มงานใหม่ที่ Texas Instruments ในปี ค.ศ. 1958 และด้วยความสามารถของเขาทำให้เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของบริษัท ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี
หลังจากนั้น เขาได้ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อย ๆ จนได้รับตำแหน่ง รองประธานในการดูแลฝ่ายเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ในช่วงปี ค.ศ. 1980
บริษัท Texas Instruments ต้องการที่จะขยายธุรกิจเข้าไปสู่ลูกค้ารายย่อยมากขึ้น
โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรุ่น TI-99/4
ซึ่งเดิมทีโมเดลธุรกิจหลักของ Texas Instruments คือเป็นซัปพลายเออร์ให้กับบริษัทอื่น
ไม่ได้ทำการค้าขายกับลูกค้ารายย่อยโดยตรง ซึ่งทางบริษัทก็ได้มอบหมายหน้าที่การขายสู่ลูกค้ารายย่อยให้กับจาง
หลังจากใช้เวลาไป 2 ปีครึ่ง ผลงานภายใต้การบริหารของจางกลับไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทคาดหวังเนื่องจากในช่วงนั้นมีผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากมาย เช่น คอมพิวเตอร์ Apple 2 ในยุคของ สตีฟ จอบส์
แม้ตำแหน่งในบริษัทของเขายังคงเป็นรองประธานก็ตาม
แต่จากผลงานที่ค่อนข้างแย่ เขาจึงถูกทางบริษัทลดตำแหน่งลง
เหตุการณ์นี้เอง ก็ได้สร้างความผิดหวังให้กับจางเป็นอย่างมาก
เพราะที่ผ่านมา เขาได้สร้างผลงานมากมายให้บริษัทเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี
ในปี ค.ศ. 1983 จางในวัย 52 ปี จึงตัดสินใจลาออกจาก Texas Instruments
ซึ่งทันทีหลังจากที่เขาลาออก ก็ได้มีหลายบริษัทติดต่อเขาให้เข้าไปทำงานมากมาย
หนึ่งในนั้นคือ General Instrument Corporation หรือ GIC
บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านเซมิคอนดักเตอร์และเคเบิลทีวี
ซึ่งเขาได้เลือกทำงานในบริษัทนี้ ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
ด้วยเหตุผลที่ว่า GIC ก็ถือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ แม้จะไม่เท่า Texas Instruments
แต่ก็ตรงกับเป้าหมายของเขา ที่อยากเป็น CEO ของบริษัทระดับโลก
แต่หลังจากเข้าทำงานที่ GIC ได้ไม่ถึง 1 ปี เขาพบว่า
GIC เป็นบริษัทที่มีแนวทางการเติบโต จากการควบรวมกิจการอื่น ๆ
ต่างจากแนวทางการเติบโตแบบ Organic Growth ที่เขาตั้งใจไว้
ทำให้ระยะเวลาไม่นาน จางจึงได้ตัดสินใจลาออกอีกครั้ง
และแล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1985
ในช่วงนั้น รัฐบาลไต้หวันต้องการเสริมสร้างความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศ
ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะสินค้าไอที
และหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ถูกผลักดัน ก็คือ “อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”
สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันทำในตอนนั้นคือ
มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อก่อตั้ง “สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม”
หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI)
สิ่งที่ยังขาดไปสำหรับ ITRI ของไต้หวัน คือ “ผู้นำ” ที่จะพาให้โครงการนี้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง
และด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของจาง เขาจึงได้รับข้อเสนอจากทางรัฐบาลไต้หวัน ให้เข้ารับตำแหน่งประธานของ ITRI ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการความสามารถของเขาในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ
หลังจากที่เขาตกลงรับข้อเสนอในครั้งนี้ ทางรัฐบาลไต้หวันได้ให้โจทย์กับเขาว่า
ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ผ่านการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา
จางจึงได้เริ่มวิเคราะห์ โมเดลธุรกิจที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ
ซึ่งเขาพบว่าไต้หวันในตอนนั้นมีจุดอ่อนเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา
การออกแบบ และการตลาด ไต้หวันไม่มีความสามารถมากพอ
ที่จะสู้กับทาง Intel หรือ Texas Instruments ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่ได้เลย
จุดแข็งเดียวที่พอมี คือ “การผลิต” และจากการวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง
ทำให้คำตอบของโจทย์นี้ออกมาเป็น “จัดตั้งบริษัทรับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่น”
แม้ความคิดนี้จะโดนคัดค้านในตอนแรก เนื่องจากในตอนนั้นยังไม่มีบริษัทที่มีโมเดลแบบ Fabless หรือ ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง เช่น Apple หรือ Nvidia ในปัจจุบัน จึงทำให้ไม่มีตลาดรองรับ
แต่จากประสบการณ์ทำงานในวงการมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี เขาสังเกตเห็นว่า
ทุก ๆ ปี จะมีพนักงานหลายคนของ Texas Instruments หรือ Intel ที่มีความคิด อยากออกมาสร้างธุรกิจเกี่ยวกับ ชิปเซตเป็นของตัวเอง
แต่ทุกครั้งความคิดนี้ต้องล้มเลิกไป เพราะการที่จะสามารถดำเนินธุรกิจ ชิปเซต ได้นั้น จำเป็นต้องมีโรงงานการผลิตเป็นของตัวเอง
ทำให้ยุคนั้นยังไม่มีบริษัทไหนที่ทำโมเดลธุรกิจรับจ้างผลิตเลย เพราะการสร้างโรงงานจำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล ซึ่งต้นทุนในการสร้างโรงงานใหม่ถ้าคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่หลักแสนล้านบาทเลยทีเดียว
ในปี ค.ศ. 1987 Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นมา
ซึ่งมีโมเดลการดำเนินธุรกิจ รับจ้างผลิตชิปเซตให้กับบริษัทอื่นโดยไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ซึ่งนับเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีโมเดลแบบนี้เกิดขึ้น
โดยในช่วง 3 ปีแรก บริษัทมีลูกค้าเพียงไม่กี่ราย ส่วนใหญ่มาจากภายในประเทศ
แต่หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 1991 เป็นต้นมา สิ่งที่จางคิดไว้ในตอนแรกก็เริ่มเป็นจริง
เพราะเริ่มมีบริษัทที่ต้องการชิปเซตเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีทุนสร้างโรงงานผลิต
บริษัทเหล่านี้จึงได้กลายมาเป็นลูกค้าของ TSMC และได้ทำให้บริษัทเติบโตขึ้น
เหตุผลที่ทำให้หลายบริษัทเข้ามาเป็นลูกค้าของ TSMC เพราะบริษัทมีเทคโนโลยีในการผลิตที่มีความซับซ้อนสูง สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ในปี ค.ศ. 2020 TSMC มีมูลค่าในการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.5% เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งบริษัท ซึ่งมากกว่า Apple หนึ่งในเจ้าแห่งนวัตกรรมที่มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 6.8% เสียอีก
โดย TSMC มีลูกค้ารายใหญ่คือ Apple, Nvidia และ Qualcomm และมีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ มากถึง 55.6% เลยทีเดียว
ปัจจุบัน TSMC มีมูลค่าบริษัท สูงถึง 20 ล้านล้านบาท มากกว่า Intel ที่มีมูลค่า 7 ล้านล้านบาท และ AMD ที่มีมูลค่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดทั่วโลกอีกด้วย
จากเรื่องทั้งหมดนี้จึงทำให้ตัวเจ้าของบริษัทอย่าง มอร์ริส จาง มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 93,000 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 15 ของไต้หวัน
ถ้าถามว่าแนวคิดอะไร ที่ทำให้จางประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
เราน่าจะสรุปได้เป็น 2 ข้อ
1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน
จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า มอร์ริส จาง เป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนมาก
หากเขารู้สึกว่างานที่เขาทำอยู่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่เขาต้องการ
เขาก็พร้อมออกมาเพื่อตามหาสิ่งที่ตรงกับเป้าหมายของเขาเสมอ อย่างเช่น ตอนที่เขาออกจาก Sylvania Semiconductor และ GIC เพราะเขาต้องการงานที่โฟกัสไปที่การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก
2. ความไม่ยอมแพ้
แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้ง TSMC ให้เป็นบริษัทรับจ้างผลิตชิป แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้และเชื่อมั่นในแนวคิดของตนเอง ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัทจนสำเร็จ
จากการมีเป้าหมายที่ชัดเจนบวกกับการไม่ยอมแพ้ของจาง จึงไม่แปลกใจเลยที่ในวันนี้เขาสามารถพา TSMC ให้ประสบความสำเร็จจนมีมูลค่าบริษัท 20 ล้านล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับที่ 9 ของโลกไปแล้ว นั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://en.wikipedia.org/wiki/TSMC
-https://en.wikipedia.org/wiki/Morris_Chang
-https://www.longtunman.com/27349
-https://www.longtunman.com/27702
-https://sahilbloom.substack.com/p/the-amazing-story-of-morris-chang
-https://www.yourtechstory.com/2018/08/16/morris-chang-chip-industry-tsmc/
-https://www.semi.org/en/Oral-History-Interview-Morris-Chang
-https://www.forbes.com/profile/morris-chang/?sh=7eb878d45fc4
-https://en.wikipedia.org/wiki/Sylvania_Electric_Products
-https://www.investopedia.com/articles/markets/012716/how-taiwan-semiconductor-manufacturing-makes-money-tsm.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Semiconductor_fabrication_plant
-https://en.wikipedia.org/wiki/Texas_Instruments
-https://www.counterpointresearch.com/global-smartphone-share/
itri wiki 在 ลงทุนแมน Facebook 的最佳解答
กับดักรายได้ปานกลาง ปัญหาใหญ่ ของประเทศกำลังพัฒนา /โดย ลงทุนแมน
Middle Income Trap หรือ กับดักรายได้ปานกลาง
คือปัญหาสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจของบางประเทศ พัฒนาแบบก้าวกระโดดต่อไปได้ยากลำบาก
ซึ่งปัญหานี้เอง ที่ทำให้หลายประเทศไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ประเทศรายได้สูงได้เสียที
กับดักรายได้ปานกลาง คืออะไร
แล้วประเทศจะก้าวข้ามกับดักนี้ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
การจัดอันดับว่าประเทศไหน ถูกจัดอยู่ในรายได้ระดับใด ตามเกณฑ์ล่าสุดของ World Bank จะถูกวัดด้วยรายได้ประชาชาติต่อหัว หรือ GNI per capita
- ถ้ารายได้ประชาชาติต่อหัว น้อยกว่า 32,300 บาทต่อปี
ประเทศนั้นจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ
- ถ้ารายได้ประชาชาติต่อหัว อยู่ในช่วง 32,300-391,200 บาทต่อปี
ประเทศนั้นจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง
- ถ้ารายได้ประชาชาติต่อหัว มากกว่า 391,200 บาทต่อปี
ประเทศนั้นจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศหนึ่ง ประสบความสำเร็จในการยกระดับจากประเทศที่มีรายได้น้อยมาสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง อาจเกิดมาจากหลายปัจจัย
ยกตัวอย่างเช่น
- ค่าจ้างแรงงานในประเทศที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จนสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก
- การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น ภาคเกษตรกรรม ไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น ภาคการบริการ และภาคอุตสาหกรรมการผลิต
- มีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรพลังงานสามารถส่งออกจนสร้างรายได้มหาศาล หรือมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จนสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวได้มาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าว ที่ส่งให้ประเทศก้าวจากการเป็นประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง อาจไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง..
และในปี 2006 World Bank ก็ได้นิยามปัญหานี้ว่า “Middle Income Trap”
เพื่อให้เข้าใจว่า อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยของปัญหา กับดักรายได้ปานกลางนี้
เราลองมาดูตัวอย่างหลายปัจจัย จากหลายประเทศกัน..
ต้นทศวรรษ 1950 ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เริ่มพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศให้สูงขึ้น
แต่มาในวันนี้ รายได้ประชาชาติต่อหัวของฟิลิปปินส์ ยังอยู่ที่ประมาณ 120,500 บาทต่อปี ซึ่งยังถูกจัดอยู่ในประเทศรายได้ระดับปานกลาง
หนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญของฟิลิปปินส์ คือการขาดนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพราะรัฐบาลของฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญน้อย กับเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศ
ปี 2018 งบวิจัยและพัฒนาของฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนเพียงแค่ 0.14% ของมูลค่า GDP ประเทศ ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 2.3%
ฟิลิปปินส์ยังมีปัญหาการคอร์รัปชันอย่างหนัก
ทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศ ไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์นี้ ยังคงพบเห็นที่หลายประเทศในลาตินอเมริกา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บราซิล
บราซิล เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา และใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลก
ทั้งยังเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะปริมาณสำรองน้ำมันดิบกว่า 12,999 ล้านบาร์เรล ติดอันดับที่ 20 ของโลก
ปี 1990 มูลค่าเศรษฐกิจของบราซิลเท่ากับ 14.4 ล้านล้านบาท
และเติบโตอย่างรวดเร็วจนสูงถึง 81.1 ล้านล้านบาท ในปี 2011
หรือเติบโตเกือบ 5 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 21 ปี
จนทำให้บราซิล เคยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และน่าจับตามองที่สุดประเทศหนึ่ง
แต่นับจากปี 2011 มา มูลค่า GDP ของบราซิล ก็ไม่กลับไปสู่จุดนั้นอีกเลย..
บราซิลยังเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการส่งออก
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ความผันผวนของราคาสินค้าส่งออก มักส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของบราซิล
นอกจากนั้น บราซิลยังประสบปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล และปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจมีสูง เพราะธุรกิจต้องใช้เส้นสายและจ่ายส่วนแบ่งให้ผู้มีอำนาจ
ซึ่งปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสนี้ ก็ได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติเข้าไปยังประเทศด้วยเช่นกัน
วันนี้รายได้ประชาชาติต่อหัวของบราซิล อยู่ที่ 284,800 บาทต่อปี ซึ่งยังไม่สามารถก้าวข้ามจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้
สำหรับประเทศไทย เราถูกเลื่อนเป็นประเทศที่มีรายได้น้อย มาสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 1976
และจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ก็เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้น หลังจากเริ่มมีการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น
เนื่องจากญี่ปุ่นในตอนนั้น ได้รับผลกระทบจากการเข้าทำข้อตกลง Plaza Accord กับสหรัฐอเมริกา โดยการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว
เมื่อเงินแข็งค่าขึ้นจากเดิมมาก ภาคการส่งออกของญี่ปุ่นก็ประสบปัญหา เพราะราคาส่งออกสินค้าแพงขึ้นกว่าเดิมมาก ญี่ปุ่นต้องมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ ที่มีค่าแรงถูกและมีข้อได้เปรียบด้านการส่งออก และแน่นอนว่าประเทศที่ได้อานิสงส์จากตรงนี้ ก็คือ ประเทศไทย
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากการเป็นฐานการผลิตสำคัญแล้ว
ภาคการท่องเที่ยว ก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนที่เติบโตแบบก้าวกระโดด จากการที่ชนชั้นกลางของจีน มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงเดินทางมาไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่เพียงพอจะทำให้ไทยเราหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางนี้
เพราะในปี 2019 ประเทศไทย ยังมีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 226,500 บาทต่อปี
ทำให้ไทย ยังคงจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มาเป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว
แล้วประเทศที่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางนี้ เขาทำกันอย่างไร ?
ลองมาดูตัวอย่างใกล้ตัวเรา คือ ไต้หวัน ที่วันนี้มีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ประมาณ 830,000 บาทต่อปี อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงเรียบร้อยแล้ว
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไต้หวันพัฒนาอย่างก้าวกระโดด คือการที่ภาครัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของไต้หวัน
ในปี 1973 รัฐบาลไต้หวัน ได้ให้ก่อตั้ง Industrial Technology Research Institute (ITRI)
ซึ่ง ITRI มีการร่วมทุนกับบริษัทฟิลิปส์ของเนเธอร์แลนด์ ทำให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิป จนทำให้ ITRI ได้พัฒนากระบวนการผลิตชิปเป็นของตัวเอง
และนำมาสู่การก่อตั้งบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ในปี 1987
ซึ่งบริษัทนั้นก็คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) นั่นเอง
ปี 2020 TSMC มีรายได้สูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธินั้น สูงกว่า 572,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูงกว่า 38% สะท้อนถึงการที่บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้สูงมาก
ไต้หวันยังมีการทุ่มทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างหนัก
โดยงบประมาณ R&D คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.3% ของ GDP ในปี 2017
ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
การที่ไต้หวันก้าวข้ามจากกับดักรายได้ปานกลางได้
ที่เห็นได้ชัด ก็มาจากการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา
โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศได้อย่างมหาศาล
ถึงตรงนี้ ถ้าเรามองโดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่า กับดักรายได้ปานกลาง ที่หลายประเทศรวมถึงไทยกำลังพบเจอ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน
เช่น การที่ยังเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงมากพอ ยังไม่ค่อยมีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง รวมไปถึงปัญหาสำคัญอย่างการคอร์รัปชัน และความไม่มีเสถียรภาพทางด้านการเมือง
และถ้าเราดูตัวอย่าง ประเทศที่สามารถก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางมาได้ อย่างเช่น ไต้หวัน
ปัจจัยสำคัญคือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลให้กับสินค้าและบริการของประเทศได้
แน่นอนว่า การที่จะทำแบบนั้นได้ ต้องมีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และอีกหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งถ้ามาวางแผนกันดี ๆ แล้วส่งเสริมเรื่องนี้กันให้ถูกจุด
สุดท้ายแล้ว มันก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ที่เราจะหลุดพ้น จากกับดักรายได้ปานกลางนี้ไปได้..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_7Nov2017.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Middle_income_trap
-https://admuaea.org/2019/03/27/philippine-economy-headed-for-the-middle-income-trap/
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_proven_oil_reserves
-https://knowledge.ckgsb.edu.cn/2019/05/23/chinese-economy/china-middle-income-trap/
-https://www.globalasia.org/v8no1/focus/taiwans-middle-income-trap-no-escaping-without-services_chen-tain-jy
-https://finance.yahoo.com/quote/TSM/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Brazil
-https://data.worldbank.org/indicator/NE.EXP.GNFS.ZS?locations=BR
-https://blogs.worldbank.org/opendata/new-world-bank-country-classifications-income-level-2020-2021
-https://eng.stat.gov.tw/point.asp?index=1
itri wiki 在 ลงทุนแมน Facebook 的最佳貼文
ทำไม ไต้หวัน จึงเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ /โดย ลงทุนแมน
สมาร์ตโฟน วิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ
สิ่งเหล่านี้ กำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวันนี้
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ว่ามานั้นจะมีส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ชิป
ที่ทำหน้าที่ ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งข้อมูล
โดยที่ ชิป มีองค์ประกอบหลัก คือ สารกึ่งตัวนำหรือที่เรียกกันว่า เซมิคอนดักเตอร์
และถ้าหากพูดถึง ผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก
เราก็คงต้องยกตำแหน่งนั้นให้กับ “ไต้หวัน”
ทำไม ไต้หวัน จึงเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ไต้หวัน หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐจีน”
ปี 2020 ไต้หวัน มีประชากรจำนวน 23.6 ล้านคน
และมีมูลค่า GDP ประมาณ 19 ล้านล้านบาท
แต่รู้ไหมว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป 60 ปีที่แล้ว ขนาดเศรษฐกิจของไต้หวันนั้นเล็กกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว
- มูลค่า GDP ในปี 1960 ของไต้หวัน เท่ากับ 48,000 ล้านบาท
- มูลค่า GDP ในปี 1960 ของไทย เท่ากับ 83,000 ล้านบาท
ในช่วงนั้น อุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวัน ยังคงเป็นการรับจ้างผลิต ที่เน้นการใช้แรงงานสูง
แต่จุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของไต้หวัน ก็เกิดขึ้นในช่วงปี 1986-2000
ในช่วง 15 ปีนั้น รัฐบาลไต้หวันต้องการเสริมสร้างความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศ
ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะสินค้าไอที
เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของไต้หวัน
และหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ถูกผลักดัน ก็คือ “อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”
ธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ หลักๆ ก็คือการผลิต ชิป หรือ ชิปเซต
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งข้อมูล
ที่เปรียบเสมือนสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น สมาร์ตโฟน หรือ คอมพิวเตอร์
การจะได้มาซึ่งชิปที่มีประสิทธิภาพสูง ก็ต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูงก่อน
ซึ่งการจะมีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ก็หมายความว่า ไต้หวัน ต้องทุ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงมากตามไปด้วย
สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันทำในตอนนั้นคือ
มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อก่อตั้ง "สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI)
ซึ่ง ITRI มีการร่วมทุนกับบริษัทฟิลิปส์ของเนเธอร์แลนด์
ทำให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปมาที่ไต้หวัน
จนทำให้ ITRI สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปเป็นของตัวเอง
หลังจากนั้น ในปี 1987 ก็ได้เกิด บริษัท “TSMC”
หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company
บริษัทผลิตชิป ที่เป็นเสมือนหัวใจของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน
หลังจากนั้นมา เศรษฐกิจไต้หวันก็เติบโตอย่างรวดเร็ว
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันระหว่างปี 1986-2000 เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.5%
และถ้านับตั้งแต่ปี 1960-2019
รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ของคนไต้หวัน เพิ่มขึ้นถึง 167 เท่า
จากประมาณ 4,500 บาท เป็น 750,000 บาท
ทำให้ไต้หวันในตอนนี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงไปเรียบร้อยแล้ว
โดยในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
สร้างรายได้ให้กับไต้หวันสูงกว่า 3 ล้านล้านบาท
หรือคิดเป็น 16% ของมูลค่า GDP
และ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC
ที่เป็นผลพวงจากการทุ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาในอดีตของรัฐบาลไต้หวัน
ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็น ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ที่ตอนนี้ครองส่วนแบ่งในตลาดชิปโลก กว่า 55.6%
โดยในปีล่าสุด รายได้ของ TSMC สูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท กำไร 533,000 ล้านบาท
และมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 17.6 ล้านล้านบาท
และในทุกวันนี้ รัฐบาลไต้หวันก็ยังคงให้ความสำคัญในการทุ่มงบวิจัยและพัฒนาอย่างมาก
อย่างเช่นในปี 2018 งบวิจัยและพัฒนาของไต้หวัน มีสัดส่วนกว่า 3.4% ต่อมูลค่า GDP ของไต้หวัน
ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
สรุปแล้วก็คือ ที่ไต้หวันสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้
ปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก คือการกำหนดชัดเจนว่าจะผลักดันอุตสาหกรรมนี้
และทุ่มงบการวิจัยและพัฒนาจำนวนมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง และผลักดันศักยภาพของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ถึงขีดสุด
และในวันนี้สิ่งเหล่านั้นที่ไต้หวันได้ทุ่มเทลงไป มันก็ได้ออกดอกออกผล อย่างเห็นได้ชัดแล้ว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://countryeconomy.com/gdp/taiwan?year=1987
-https://www.bangkokbank.com/-/media/files/international-banking---chinese-customers/news-and-articles/articles/2020/taiwanecondevelopment.pdf?la=en&hash=C8183A641316F370A22957C1778A06BB66EC8AA0
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Taiwan
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://finance.yahoo.com/quote/TSM/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Semiconductor_industry_in_Taiwan
-https://www.statista.com/statistics/726841/taiwan-value-of-exports/#:~:text=This%20statistic%20shows%20the%20value,approximately%20329.2%20billion%20U.S.%20dollars.
-https://www.tsia.org.tw Overview on Taiwan Semiconductor Industry (2020 Edition)
itri wiki 在 工研院研發高負載無人機載重達40公斤20190821 公視中晝新聞 的必吃
PTS is a Taiwanese public broadcast service. Wikipedia ... ... <看更多>
itri wiki 在 工研院- Local Business | Facebook 的必吃
財團法人工業技術研究院(簡稱工研院,英文簡寫:ITRI),總院位於臺灣新竹縣竹東鎮, ... href="http://zh.wikipedia.org/wiki/%E7%B6%93%E6%BF%9F%E9%83%A8" ... ... <看更多>